วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของนักการเมือง

การสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมือง
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
                การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ องค์กร หน่วยงาน สถาบัน และตัวเราเอง มีความจำเป็นอย่างยิ่ง การสร้างภาพลักษณ์ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ความน่าเชื่อถือและความศรัทธาแก่ผู้พบเห็น แวดวงต่างๆจึงให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแวดวงศาสนา แวดวงธุรกิจและแวดวงการเมือง ในบทความตอนนี้เราจะมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้กันในเรื่อง “ การสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมือง ” มีดังนี้
-                     การสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองผ่านการใช้สื่อ เช่น สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์
สื่ออินเตอร์เน็ต ฯลฯ  นักการเมืองที่โดดเด่นและผู้คนรู้จักกันมาก มักจะต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับสื่อมวลชน เพื่อให้สื่อมวลชนออกข่าวประชาสัมพันธ์ความดีหรือผลงานของตน เพราะหากนักการเมืองมีผลงานมากมายขนาดไหนแต่สื่อมวลชนไม่ลงข่าวประชาสัมพันธ์ให้ ประชาชนส่วนมากก็คงไม่ทราบ จึงไม่แปลกใจที่นักการเมืองหลายคนเป็นเจ้าของสื่อหรือยอมลงทุนที่จะทำธุรกิจสื่อทั้งๆที่ การทำสื่อบางประเภทขาดทุนหรือกำไรน้อยแต่ก็ต้องทำทั้งนี้เพื่อสื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ เจ้าของสถานีวิทยุ เจ้าของสถานีโทรทัศน์  ฯลฯ  อีกทั้งนักการเมืองอีกหลายท่านหรืออดีตนายกรัฐมนตรีหลายท่าน ถึงกับใช้เวลาและพื้นที่สื่อในการจัดรายการวิทยุหรือโทรทัศน์ด้วยตนเองหรือเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ด้วยตนเอง เพราะการจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ด้วยตนเอง ถือว่าได้เปรียบกว่านักการเมืองคนอื่นที่มีนักข่าวช่วยประชาสัมพันธ์เขียนให้พูดให้ ก็เนื่องมาจากนักการเมืองผู้นั้นได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อไปยังประชาชนได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านบรรณาธิการสื่อ
-                    การสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองผ่านการตลาด ปัจจุบันทฤษฏีการตลาดได้นำมาใช้กับการเมืองมากขึ้น
สำหรับกลยุทธ์การทำการตลาดการเมืองที่ดีนั้น จะต้องมีผู้จัดการด้านสื่อ คอยช่วยทำธนาคารข้อมูล ทำงานวิจัย ทำโพลในเรื่องต่างๆ  มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีการวิเคราะห์สถานการณ์ว่า ควรจะให้นักการเมืองที่ทำการตลาดการเมือง พูดเมื่อไรเวลาไหน เพราะหากนักการเมืองไม่มีประเด็นในการนำเสนอก็จะไม่เป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและก็ไม่เป็นข่าว การทำการตลาดการเมืองจึงต้องมีงบประมาณ การควบคุม การประเมินผลงาน การตรวจสอบ ทั้งนี้ผู้จัดการด้านสื่อจะต้องรู้จักใช้สื่อทุกอย่างที่เป็นเครื่องมือให้เป็นประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งต้องรู้จักเรื่องของการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าหรือประชาชน และต้องวิเคราะห์ว่าลูกค้าหรือประชาชนที่ไม่เลือกนักการเมืองที่ทำการตลาดนั้นให้ได้ ว่าทำไมเขาถึงไม่เลือกหรือลังเล การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองและคู่แข็งก็มีความสำคัญ
-                    การสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองผ่านสถานการณ์ทางการเมือง การเมืองทุกยุคทุกสมัยมักมีความ
คล้ายคลึงกัน ถ้าหากท่านลองไปศึกษาการเมืองในยุคสามก๊กหรือประวัติศาสตร์ทางการเมืองของทุกประเทศในอดีต ก็จะเห็นจริงว่า บ้านเมืองเคยสงบแล้วก็กลับมาวุ่นวาย จากความวุ่นวายก็กลับมาสงบ เช่นเดียวกับการเมืองระดับชาติ พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลแล้วก็กลับเป็นฝ่ายค้าน เป็นฝ่ายค้านแล้วก็กลับเป็นรัฐบาล  หรือการเมืองระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด คนที่เคยได้รับเลือกตั้งแล้วก็กลับไม่ได้รับเลือกตั้ง จากไม่ได้รับเลือกตั้งก็กลับเป็นรับเลือกตั้ง ดังนั้นการสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองต้องสร้างทั้งตอนที่มีอำนาจอยู่ในตำแหน่งและสร้างตอนที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจในตำแหน่ง เช่นเมื่อไม่ได้รับเลือกตั้งก็ต้องนั่งรถตระเวนไปพบปะประชาชนให้ความช่วยเหลือประชาชน ยังภาคต่างๆจังหวัดต่างๆ ท้องที่ต่างๆ เพื่อเก็บคะแนนในการเลือกตั้งในครั้งต่อไป
                 ดังข้อความข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองมีความสำคัญและความจำเป็น ที่จะทำให้นักการเมืองผู้นั้นชนะการเลือกตั้งหรือเป็นที่ยอมรับ เป็นเคารพ เป็นที่ศรัทธาของประชาชน สำหรับการสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองนั้นต้องอาศัยสื่อ อาศัยทฤษฏีทางการตลาดและสถานการณ์ทางการเมืองในการสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น