วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หัวใจนักปราชญ์


หัวใจนักปราชญ์
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์(ดร.โทนี่)
                เมื่อเอ๋ยคำว่า หัวใจนักปราชญ์ หลายๆท่านมักนึกถึงคำว่า สุจิปุลิ
สุ             ย่อมาจาก                                สุตต        คือ การฟัง
จิ              ย่อมาจาก                                จินตน     คือ การคิด
ปุ             ย่อมาจาก                                ปุจฉา      คือ การถาม
ลิ             ย่อมาจาก                                ลิขิต        คือ การเขียน
                สุ-สุตตหรือการฟัง จะทำให้เราได้รับความรู้ ข้อมูล แง่มุม ความคิดต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง บุคคลที่เป็นนักปราชญ์ มักจะเป็นคนที่ฟังมาก อ่านมาก แต่เนื่องจากยุคปัจจุบันเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลจึงมีมากมาย ฉะนั้น บุคคลที่ได้ชื่อว่านักปราชญ์มักจะเป็นคนที่มีการคัดเลือกข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวมมาฟัง มาอ่าน มาศึกษาค้นคว้าเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในตนเอง
                จิ-จินตนหรือการคิด การคิดมีความสำคัญมาก เมื่อได้รับข้อมูล จากการฟังและการอ่านแล้ว แต่คนๆนั้นไม่สามารถมีความคิดเป็นของตนเองได้  ได้แต่นำความคิดของบุคคลอื่นมาใช้ก็เปล่าประโยชน์ คนที่คิดไม่เป็นมักเป็นคนเชื่อคนง่าย ถูกหลอกได้ง่ายกว่าคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง
                ปุ-ปุจฉาหรือการถาม เมื่อเกิดความสงสัย เมื่อเกิดความไม่เข้าใจ จึงต้องถาม แต่สังคมไทยมีปัญหาในเรื่องนี้อยู่มาก เด็กและผู้ใหญ่จำนวนมากมักไม่กล้าถาม อาจเป็นเพราะ อายเพื่อน กลัวครู อาจารย์  ความไม่กล้า ฯลฯ แต่แท้ที่จริงแล้ว การถามจะทำให้เราได้รับความรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้เพิ่มขึ้นอีกมาก
                ลิ-ลิขิตหรือการเขียน  การเขียนมีประโยชน์หลายอย่าง การเขียนช่วยให้การคิดเป็นระบบขึ้น เพราะก่อนที่เราจะเขียนสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทความ เรียงความ จดหมาย สารคดี นิยาย ฯลฯ เราจะต้องมีการคิดขึ้นมาก่อน ฉะนั้นการเขียนจึงเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาความคิดต่างๆของคนเราได้มาก อีกทั้งการเขียนยังช่วยพัฒนาความจำของคนเราด้วย  จำดีกว่าจด แต่ถ้าจำไม่หมด ให้จดแล้วค่อยจำเป็นคำพูดที่เป็นความจริงมากทีเดียว เช่น ตอนเราเรียนหนังสือ หากว่าครู สอนที่หน้าชั้นในห้องเรียน หากเราไม่ยอมจดหรือเขียน จะใช้วิธีจำอย่างเดียว ก็อาจจะจำไม่ได้ทั้งหมด แต่คนที่มีหัวใจนักปราชญ์ เขาจะจดแล้วนำมาทบทวนอีกครั้ง เขาถึงสอบได้คะแนนมากกว่าคนที่ไม่ยอมจดหรือเขียน
                ดังนั้น หากใครสามารถปฏิบัติได้ทั้ง 4 ข้อ คือ สุจิปุลิ ท่านสามารถปฏิบัติได้ไม่ยาก ถึงแม้ท่านจะไม่ใช่นักปราชญ์ แต่กระผมเชื่อว่าชีวิตของท่านจะมีการพัฒนาไปได้เป็นอันมาก จงใช้เวลาในการฝึกฝนเรียนรู้และพัฒนา แล้วไม่แน่ในอนาคต ท่านอาจจะได้ชื่อว่าเป็น นักปราชญ์ที่มีผู้คนยกย่องคนหนึ่งก็ได้
ฟังให้มาก คิดให้เป็น หมั่นสอบถามและฝึกการเขียน จึงเป็นหัวใจของนักปราชญ์อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น