วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

อิทธิบาท 4 สู่การเป็นนักพูด

อิทธิบาท 4 สู่การเป็นนักพูด
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                อิทธิบาท 4  คือ อะไร อิทธิบาท 4 คือ หลักคำสอนของพุทธศาสนา ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงาน การเรียน การดำเนินชีวิตได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งความต้องการในการเป็นนักพูด หลักอิทธิบาท 4 มีดังนี้
                1.ฉันทะ ได้แก่ความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จในการเป็นสิ่งใดก็ตามที่ตนเองต้องการจะเป็น เช่น หากท่านอยากเป็นนักพูด ท่านจะต้องมี ฉันทะ คือ มีความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้าเสียก่อนในความอยากเป็นนักพูด และหากจะให้ดี ควรหาแบบอย่างว่าตนเองต้องการเป็นนักพูดแบบใครหรือใครคือต้นแบบ ก็จะทำให้ท่านได้แนวทางมากขึ้น เช่น บางคนอยากเป็นนักพูดทางการเมืองแบบคุณสมัคร สุนทรเวช ท่านก็ควรนำเทปหรือคำพูดคุณสมัคร สุนทรเวช มาศึกษามาเรียนรู้บ่อยๆ หรือ หากท่านต้องการเป็นนักพูดประเภททอล์คโชว์ เหมือนอาจารย์นักพูด (อ.จตุพล,อ.สุขุม,อ.สุรวงค์,อ.ถาวร ฯลฯ) ท่านก็ควรหา VCD ขอนักพูดเหล่านี้มาฟังมากๆ บ่อยๆ ก็จะทำให้ท่านมีไฟมีความปรารถนาเพิ่มมากขึ้น
                2.วิริยะ ได้แก่ความพยายามพากเพียร บากบั่น อดทนในการฝึกซ้อม ในการศึกษาเรียนรู้ การฝึกฝน ในการเป็นนักพูด ต้องมีการฝึกซ้อมหลายเวที บางเวทีอาจประสบความสำเร็จ บางเวทีอาจล้มเหลว ฉะนั้น บุคคลที่ต้องการเป็นนักพูดจึงต้องมี วิริยะ คือ ความเพียรพยายาม ดังตัวอย่างเช่น เดมอส เทนิส นักพูดชื่อดังในอดีต ท่านถูกหัวเราะถูกด่า จากสภาในการพูดในรัฐสภาว่าเป็น คนพูดที่ขาดซึ่งวาทศิลป์ มีการใช้ท่าทางประกอบที่น่าเกลียด ซึ่งสร้างความอัปยศอดสูแก่ตัวท่านและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง แต่ท่าน เดมอส เทนิส ไม่ยอมแพ้ ท่านได้ใช้ วิริยะ คือความพากเพียร ท่านไปเก็บตัวเงียบ แล้วฝึกซ้อมอยู่ริมชายทะเลอยู่ตามลำพัง โดยการอ่านสำนวนโวหารดังๆบ้าง โดยการฝึกพูดด้วยตนเองบ้าง จนในที่สุด เขาถูกรัฐสภาปรบมือให้เกียรติในการพูดของเขา เป็นต้น
                3.จิตตะ ได้แก่ จิตใจจดจ่อ เอาใจใส่ต่อเป้าหมายที่วางเอาไว้  บุคคลที่ต้องการเป็นนักพูดบางท่าน จดจ่อถึงขนาดนอนหลับฝันว่าตนเองกำลังพูดบนเวที หรือบางคนใช้จินตนาการว่าตนเองกำลังไปพูดบนเวทีใหญ่เลยก็มี และที่สำคัญที่สุด ท่านจะต้องมีการฝึกพูดด้วยตนเอง ซึ่งหมายถึงในหนึ่งวันหรือ 24 ชั่วโมง ท่านจำเป็นจะต้อง แสวงหาความรู้ แสวงหาข้อมูล และต้องมีการเตรียมตัว ต้องมีการฝึกซ้อมอยู่เสมอๆ เพื่อให้เกิดความชำนาญแคล่วคล่องในการนำไปพูดจริง โดยไม่ต้องมีการคิดให้มากนักในเวลาพูด
                4.วิมังสา ได้แก่ การหมั่นพิจารณาไตร่ตรอง ถึงสิ่งที่ตนเองกำลังฝึกฝนหรือกระทำลงไป
ว่าควรแก้ไขปรับปรุง พัฒนาอย่างไร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายในการเป็นนักพูดของตนเอง ซึ่งหากว่าเป้าหมายในการเป็นนักพูดของท่านอยู่ในระดับต่ำแค่เป็นนักพูดในระดับหมู่บ้าน ท่านก็อาจมีการปรับปรุงแก้ไข พัฒนาง่ายหน่อย แต่หากว่าเป้าหมายในการเป็นนักพูดของท่านอยู่ในระดับประเทศ แน่นอนการแก้ไขปรับปรุงการพูดของท่านก็คงต้องมีการทุ่มเท พัฒนา ปรับปรุงตนเองอย่างหนักหนาและจริงจังตามไปด้วย
                อิทธิบาท 4 จึงเป็นหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่ควรนำไปใช้ในการเป็นนักพูด และหลักการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องการเป็นนักพูดทุกระดับ
ข้อสำคัญก็คือ หากว่าเกิดความผิดพลาด ผิดหวัง ท้อแท้ ขอให้ท่านอย่าได้ ท้อถอย ขอให้คิดเสียว่า คนที่ไม่ได้ทำผิดพลาดอะไรเลย ก็คือคนที่ไม่ได้ทำอะไรเลยนั่นเอง (
Do no wrong is do noting)
               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น