วันพุธที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2555

สมองเงินล้าน


สมองเงินล้าน
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                ที ฮาร์ฟ เอคเคอร์(T.Harv Eker) เศรษฐี นักพูด วิทยากร ชื่อดังระดับโลกชาวอเมริกา ซึ่งได้จัดสัมมนา อบรม เขียนหนังสือ เกี่ยวกับเรื่อง ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน (Secrets of the Millionaire Mind ) ให้กับผู้คนทั่วโลกได้อ่านได้ฟังกัน ซึ่งเขาได้แนะนำว่า ต้นเหตุอันดับแรกที่สำคัญที่ทำให้บางคนรวย บางคนเป็นคนธรรมดาหรือชนชั้นกลาง ก็คือเรื่องของความคิด
                เขาได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า สมมุติว่า พวกเราได้ปลูกต้นไม้ขึ้นมาต้นหนึ่งคือต้นไม้แห่งชีวิต บนต้นไม้เต็มไปด้วยผลไม้(ผลลัพธ์ของชีวิตเรา) แต่หากว่าผลไม้มีน้อยไป ผลเล็กไป ไม่มีความสมบูรณ์ รสชาติทานแล้วก็ไม่อร่อย และเราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อให้ ผลไม้ใหญ่ขึ้น มีจำนวนมากขึ้น มีความสมบูรณ์ขึ้น รสชาติดีขึ้น วิธีการก็คือคุณจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงที่รากของต้นไม้หรือความคิดของเราเอง
                หากว่าต้องการแก้ไขผลลัพธ์ของชีวิตหรือสิ่งที่มองเห็น เราจำเป็นจะต้องเริ่มต้นที่ความคิดหรือการแก้ในสิ่งที่เรามองไม่เห็น เพราะสิ่งที่เรามองไม่เห็นมีความสำคัญมีพลังมากกว่าสิ่งที่เรามากเห็นเสียอีก เช่น สิ่งที่อยู่ภายใต้พื้นดินมักสร้างสิ่งต่างๆที่อยู่บนดิน ตัวอย่าง  ต้นไม้ พืชต่างๆ  ดังนั้น หากว่าเราต้องการแก้ผลลัพธ์ของชีวิตเรา เราต้องเริ่มต้นที่ความคิดโดยผ่านกระบวนการ(Process of Manifestation)
                ความคิด  ทำให้เกิด  ความรู้สึก  ทำให้เกิด  การกระทำ  แล้วกลายเป็น   ผลลัพธ์
                ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงความคิดเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะถ้าหากเราเปลี่ยนความคิด ชีวิตของเราก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมากมหาศาล สำหรับวิธีหรือเครื่องมือที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงความคิด ก็คือ
                1.การใช้พลังของคำพูด พยายามพูดบวก พูดตั้งโปรแกรมกับตัวเองตลอดเวลา เช่น การเอามือหรือนิ้วแตะศีรษะตัวเองแล้วพูดว่า “ ฉันมีสมองเงินล้าน”  “ ฉันเป็นคนรวย ” “ฉันสุดยอด” “ ฉันยอดเยี่ยม” เป็นต้น
                2.การใช้ต้นแบบหรือแบบอย่างที่ดี ท่านควรดู ท่านควรศึกษา ท่านควรฟัง ควรอ่าน วิธีคิดของบรรดาเหล่ามหาเศรษฐีทั้งหลายว่าเขามีความคิด ความอ่านอย่างไร แล้วนำมาเป็นแบบอย่าง เช่น วอร์เรน บัฟเฟ่ต์ , โดนัลด์ ทรัมป์ , บิล เกตส์ , เจริญ สิริวัฒนภักดี , ธนินท์ เจียรวนนท์ เป็นต้น ถ้าจะให้ดีหรือมีโอกาส ท่านลองหัดเข้ากลุ่มหรือสโมสรที่มีบรรดาเศรษฐีหรือคนร่ำรวยเข้ากันเพื่อคบกับเขาเป็นมิตร เพราะมีการวิจัยและศึกษาว่า หากในชีวิตของคนเรา เราเลือกคบกับใครที่สนิทจำนวน 5 คน เรามักมีนิสัยใจคอคล้ายคลึงกันกับกลุ่ม 5 คนนั้น หากท่านมีโอกาสเลือกคบกับบรรดา คนร่ำรวยท่านก็จะมีโอกาสร่ำรวยไปด้วย
                3.การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ตอนเด็กๆ หลายคนได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวว่า เงินทองเป็นสิ่งชั่วร้าย ไม่ควรโลภ มองคนร่ำรวยว่าเป็นคนไม่ค่อยจะดี เอาเปรียบ และมีความฝังใจกับเหตุการณ์ต่างๆที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตทางด้านการเงินในปัจจุบัน ดังนั้น ท่านมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนทัศนคติเสียใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้จะนำพาชีวิตของท่านไปสู่ความมั่งคั่ง ร่ำรวย
                 ดังนั้น หากว่าท่านต้องการความมั่งคั่ง ร่ำรวย เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ท่านควรเริ่มต้นที่ การเปลี่ยนแปลงความคิด ท่านจะต้องคิดแบบเศรษฐี แบบมหาเศรษฐี ท่านต้องมีการเปลี่ยนแปลงความรู้สึก ท่านจะต้องรู้สึกแบบบรรดา เศรษฐี แบบมหาเศรษฐี ท่านจะต้องเปลี่ยนแปลงการกระทำ ท่านจะต้องกระทำแบบเศรษฐี บรรดามหาเศรษฐี ที่เขาทำกัน แล้วผลลัพธ์ก็คือ ท่านก็จะเป็นคนที่มั่งคั่ง ร่ำรวย แบบบรรดาเศรษฐี มหาเศรษฐีทั้งหลาย
                ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจตั้งคำถามว่า แล้วบรรดาเศรษฐี มหาเศรษฐี เขาคิดกันอย่างไร คำตอบคือ บรรดาเศรษฐี มหาเศรษฐี ส่วนใหญ่เขาคิดในลักษณะนี้ คือ  เขาเป็นคนกุมชะตาชีวิตของเขาเอง , เขาเป็นคนคิดใหญ่ไม่คิดเล็ก , เขาเป็นคนมองโลกในแง่ดีและมักชอบคบคนที่ประสบความสำเร็จ , เขามีความสนใจในการเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินมากกว่าสนใจหารายได้จากการทำงาน , เขาพยายามให้เงินทำงานหนักเพื่อเขา มากกว่าทำงานหนักเพื่อหาเงิน , เขาเป็นคนชอบเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เป็นต้น

พลังแห่งการเคลื่อนไหวร่างกาย


พลังแห่งการเคลื่อนไหวร่างกาย
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                Anthony Bobbins (แอนโทนี่ ร็อบบินส์) โค้ชสอนเรื่องการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นโค้ชแนวหน้าของโลก มักจะพูด จะเขียน จะสอนในงานอบรม งานสัมมนาอยู่บ่อยๆว่า
                คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า ความรู้สึกทางอารมณ์ส่งผลต่อลักษณะของการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เวลาเรารู้สึกเศร้า การเคลื่อนไหวร่างกายก็จะช้า แต่หากว่าเรามีความรู้สึกที่ดีใจ ตื่นเต้น การเคลื่อนไหวร่างกายก็จะเร็วกว่าปกติ
                Anthony Bobbins (แอนโทนี่ ร็อบบินส์) เขาให้แง่คิดในทางกลับกัน กล่าวคือ ให้เราลองฝึกเคลื่อนไหว เพื่อให้เปลี่ยนลักษณะความรู้สึก อารมณ์ เช่น การตบมือดังๆ การกระโดด โลดเต้น จะทำให้อารมณ์ความรู้สึกของเรามีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
                สำหรับการฝึกของ Anthony Bobbins (แอนโทนี่ ร็อบบินส์)  เขาเริ่มฝึกจากการเลียนแบบการเคลื่อนไหว ท่าเดิน ท่ายืน ท่านั่ง ของผู้นำ ผู้ที่ประสบความสำเร็จ ผู้ที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง จนทำให้เขาเกิดมุมมองใหม่ๆ ในที่สุด การฝึกเคลื่อนไหวร่างกายเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ทำให้เขาเกิดความมั่นใจในตนเองและทำให้เขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว
                จากงานสัมมนา งานอบรม งานเขียนของเขา เขาจะแนะนำเสมอว่าให้ทุกคน ฝึกการเคลื่อนไหวร่างกายเสียใหม่  กล่าวคือ “ เปลี่ยนวิธีการเคลื่อนไหวร่างกายแล้วชีวิตจะเปลี่ยน” อีกทั้งเขายังให้การแนะนำว่า ให้ทุกคนมองหาบุคคลที่ชื่นชอบ บุคคลที่มีความมั่นใจในตนเองสูง แล้วให้ทุกคนลองสังเกตการเคลื่อนไหวร่างกายของบุคคลเหล่านั้น
แล้วให้ทุกคนลองลอกเลียนแบบ ตั้งแต่ ท่าทาง การเดิน การหายใจ การนั่ง แล้วท่านก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวของท่าน
เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ท่านลองปฏิบัติตาม 2 รูปแบบ ดังนี้
1.ท่านลองเดินเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ กว่าปกติ  แล้วกำหมัดหลวมๆ พร้อมทั้งพูดช้าๆ เบาๆ ว่า “ ฉันทำได้ ” “ฉันมีพลัง” (หลายๆครั้ง)
2.ท่านลองเดินเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว กว่าปกติ  แล้วกำหมัดแน่นๆ พร้อมทั้งพูดดังๆ ว่า “ ฉันทำได้ ” “ฉันมีพลัง” (หลายๆครั้ง)
หากท่านได้ลองทำดูแล้ว ท่านจะรู้สึกอย่างไร กับการกระทำ 2 รูปแบบ ข้างต้น ท่านจะสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของท่าน กล่าวคือ หากท่านร่างกายเคลื่อนไหวแบบช้าๆ พูดช้าๆ พลังหรือความกระตือรือร้นก็จะไม่เกิดขึ้น แต่หากท่านมีการเคลื่อนไหวร่างกายแบบรวดเร็ว พูดด้วยน้ำเสียงที่ดัง ความกระตือรือร้นและพลังก็จะเกิดขึ้น
ดังนั้น หากท่านต้องการเปลี่ยนอารมณ์  ท่านจะต้องเปลี่ยนการเคลื่อนไหวร่างกายของตนเองเสียใหม่

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

ขุมทรัพย์แห่งความสำเร็จคือการให้


ขุมทรัพย์แห่งความสำเร็จคือการให้
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                                มือของผู้ให้ย่อมอยู่เหนือมือของผู้รับ และจะเป็นสุขใจเมื่อเราได้เป็นผู้ให้
                การเป็นผู้ให้จะทำให้เราลดความเห็นแก่ตัว การเป็นผู้ให้จะทำให้เราสามารถลดกิเลสในตัวเราลงได้
                องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า หลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี คือ สังคหวัตถุ 4  ได้แก่ 1. ทาน คือ การให้  2. ปิยวาจา คือ การพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน 3. อัตถจริยา คือ การประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น  4. สมานัตตา คือ การเป็นผู้มีความสม่ำเสมอ  เราจะเห็นได้ว่า ทานหรือการให้ เป็นธรรมะข้อแรกสุด บุคคลที่เป็นผู้ให้มักเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จมากกว่าบุคคลที่เป็นผู้รับ เช่น
                แอนโทนี่ ร็อบบินส์  นักพูดสร้างแรงบันดาลใจระดับโลก มักบอกเสมอว่า เคล็ดลับของเขา คือ มุ่งความสนใจไปที่ความต้องการของผู้อื่น เขามักถามตัวเองบ่อยๆ ว่า เขาจะเพิ่มคุณค่าให้กับคนอื่นๆ ได้อย่างไร ” 
                ผู้พันแซนเดอร์แห่ง KFC เขาต้องการให้คนได้กินไก่ที่อร่อยที่สุดในโลก ด้วยการมีความคิดบวกและด้วยหัวใจของการเป็นผู้ให้ เขาจึงได้ออกเร่ขายสูตรไก่ให้กับนักธุรกิจ แต่ก็ถูกปฏิเสธหรือได้ยินคำพูดว่า “ ไม่ ” เป็นจำนวนถึง 1,009 คน ก่อนที่จะได้ยินคำว่า “ ตกลง”
                วอลท์ ดิสนีย์ เขาต้องการให้ผู้คนเกิดความสุข โดยเฉพาะเด็กๆ ด้วยหัวใจของการเป็นผู้ให้ เขาจึงสร้างสวนสนุกดิสนีย์ขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ  เนื่องจากเขาต้องขอกู้หรือขอการสนับสนุนทางด้านการเงิน จากสถาบันต่างๆ ซึ่งเขาก็ถูกปฏิเสธถึง 302 ครั้ง แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ จนความฝันของเขาเป็นความจริงขึ้นมาได้
                ดังนั้น หากท่านสามารถให้คนอื่นได้มากเท่าไร หรือ ช่วยเหลือผู้อื่นได้มากเพียงใด หรือว่าท่านสามารถสร้างคุณค่าให้คนอื่นได้มากเท่าไร ผลตอบแทนก็จะกลับมาหาท่านในที่สุด
                ตัวอย่าง คนไม่มีบ้านอยู่  ท่านสร้างบ้านให้เขาอยู่ ท่านก็จะได้รับเงินเป็นค่าแรง ค่าตอบแทนในการสร้างบ้าน,คนไม่มีข้าวกิน ท่านปลูกข้าวให้คนกิน ท่านก็จะได้รับค่าตอบแทน เป็นต้น
                กล่าวคือ หากว่าผู้อื่นต้องการอะไร แล้วท่านสามารถตอบสนองหรือให้ในสิ่งที่ผู้อื่นต้องการได้ ท่านก็จะประสบความสำเร็จในที่สุด
การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง

               

นพลักษณ์ ศาสตร์แห่งการรู้จักตนเองและผู้อื่น


นพลักษณ์ ศาสตร์แห่งการรู้จักตนเองและผู้อื่น
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
                นพลักษณ์ หรือ เอ็นเนียแกรม(Enneagram) ไม่ได้เป็นศาสตร์ใหม่เลยสำหรับสังคมไทย 
                นพลักษณ์ เป็นศาสตร์ที่ทำให้เราได้เรียนรู้จักตนเองและผู้อื่นมากขึ้น  โดยมีการแบ่งคนออกเป็น 9 ลักษณ์ อีกทั้งแยกนิสัยบุคลิกคนออกเป็น 9 บุคลิก 9 ลักษณะ คือ
                1.ลักษณ์หนึ่ง : Perfectionist (คนสมบูรณ์แบบหรือคนเนี๊ยบ)  ชอบทำงานตามตารางที่ชัดเจน ,  เป็นคนคิดละเอียดรอบคอบ ชอบอยู่โดดเดียว  เป็นคนที่มุ่งการทำงานมากกว่ามุ่งความสัมพันธ์ของคน มองอะไรตรงไปตรงมา ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด  ไม่ค่อยแสดงออกเวลาโกรธ ฯลฯ
                2.ลักษณ์สอง : Giver (ผู้ให้)  เป็นผู้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี  , ชอบช่วยเหลือผู้อื่น , มีการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่ดีจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นคนที่มีหลายบุคลิก , ไวต่อความรู้สึกของผู้อื่น , ร่าเริงแจ่มใส ฯลฯ
                3.ลักษณ์สาม : Performer (นักแสดงหรือนักปฏิบัติ) เป็นคนทุ่มเทการทำงาน , ต่อสู้ชีวิต , ชอบการแข่งขัน , ต้องการเป็นผู้ชนะ , เป็นคนกระตือรือร้น , ไม่ทนต่อคำวิจารณ์ของผู้อื่น , มุ่งงานมากกว่ามุ่งคน ฯลฯ
                4.ลักษณ์สี่ : Romantic (คนโศกซึ้ง) เป็นคนอ่อนไหว  , ชอบงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์  , การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากน้อยมักขึ้นอยู่กับสภาพของอารมณ์ในขณะนั้น , มีอารมณ์ศิลปิน  , มีความลึกซึ้งทางด้านอารมณ์ ฯลฯ
                5.ลักษณ์ห้า : Observer (ผู้สังเกตการณ์) เป็นคนหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง , ต้องการความเป็นส่วนตัวสูง , ต้องการความปลอดภัย , รู้จักสงบนิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต , รักษาความลับได้ดี , เป็นคนช่างคิด ฯลฯ
                6.ลักษณ์หก : Questioner (คนช่างระแวงหรือนักปุจฉา) เป็นคนช่างตั้งคำถามและสนใจที่จะตรวจสอบ ,  ชอบเก็บตัวมากกว่าชอบเข้าสังคม , ความกลัวหรือความกังวล อาจทำให้ประสบความสำเร็จยาก , เป็นผู้ร่วมทีมงานที่ดีแต่มักไม่ชอบเป็นผู้นำทีม ฯลฯ
                7.ลักษณ์เจ็ด : Epicure (นักเสพสุดยอดหรือนักผจญภัยหรือคนหรรษา) เป็นคนที่ชอบสร้างความสำราญให้กับผู้ที่อยู่ร่วมทำงาน , เป็นคนช่างเล่น , มีพลัง มีความร่าเริง กระตือรือร้น มองโลกในแง่ดี  , ชีวิตต้องการสร้างสรรค์สิ่งแปลกๆใหม่ๆ , เปิดรับความคิดใหม่ๆ มากกว่าความคิดเดิมๆ ฯลฯ
                8.ลักษณ์แปด : Boss (ผู้ปกป้อง หรือ เจ้านายหรือคนกล้า) เป็นคนตรง , ไม่ชอบความไม่ยุติธรรม , เวลาโกรธก็แสดงออกมา ไม่ซ้อนเร้น ,  เป็นคนแข็งนอกแต่อ่อนใน , เห็นการประนีประนอมว่าเป็นความอ่อนแอ ,  มักมองว่าตนเป็นฝ่ายถูก , มองตนเองเป็นศูนย์กลาง ฯลฯ
                9.ลักษณ์เก้า : Mediator (ผู้ประสานไมตรี) เป็นนักประสานงานที่ดี , ชอบสันติ ,ไม่ชอบความขัดแย้ง , ไม่ชอบการเสี่ยง , เป็นคนชอบผ่อนคลาย , ไม่ชอบการตัดสินใจ , เมื่อโกรธจะแสดงออกด้วยการเพิกเฉย ฯลฯ
                ฉะนั้น คนเราทุกคน จะมีลักษณะตามลักษณ์ทั้ง 9 ลักษณ์ที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งทั้ง 9 ลักษณ์  ท่านสามารถศึกษาได้เพิ่มเติมที่ สมาคมนพลักษณ์ไทย หรือลองเข้าไปดู  http://www.enneagramthailand.org/  ซึ่งมีการเปิดสอนและฝึกอบรม อีกทั้งปัจจุบัน ยังมีหนังสืออีกหลายเล่ม ที่เขียนเกี่ยวกับ นพลักษณ์ให้ได้อ่านกัน เช่น  นพลักษณ์ – คู่มือสังเกตตนเอง , นพลักษณ์ : แผนที่เข้าถึงคน เข้าถึงตน , แก่นพนลักษณ์  ฯลฯ
                สำหรับการตรวจสอบว่า ตนเองอยู่ลักษณ์ใด คงต้องใช้เวลา และในปัจจุบันมีเครื่องมือ แบบทดสอบลักษณ์  ให้ได้มีการประเมินตนเอง และประเมินผู้อื่นอีกด้วย  นพลักษณ์ จึงเป็นศาสตร์แห่งการรู้จักตนเองและผู้อื่น อย่างแท้จริง หากว่าท่านได้ศึกษาอย่างแท้จริง ก็จะเกิดประโยชน์ต่อตัวท่านและผู้อื่น