วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556

IQ EQ AQ MQและSQ


IQ EQ AQ MQและSQ สำหรับนักบริหาร
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
                IQ EQ AQ MQและSQ  ตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษเหล่านี้ มักมีผู้สนใจ อีกทั้งต้องการที่จะทราบความหมายว่าหมายความว่าอย่างไร และสำหรับผู้ที่เป็นนักบริหาร ตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษเหล่านี้ เป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาและทำความเข้าใจ
                IQ ย่อมาจาก Intelligenec Quotient หมายถึง ความฉลาดความสามารถทางเชาว์ปัญญา  ซึ่งถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่คอยส่งเสริม เชาว์ปัญญาเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ แต่สามารถแสดงออกโดยผ่านพฤติกรรมต่างๆของบุคคล
                สำหรับการวัดไอคิว เราสามารถวัดได้จากแบบทดสอบหรือเครื่องมือที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นโดยมีการแบ่งออกเป็นทักษะต่างๆคือ
                ทักษะด้านคณิตศาสตร์ , ทักษะด้านการคิด , ทักษะด้านความจำ , ทักษะด้านการใช้ภาษา , ทักษะด้านความเร็วในการคำนวณต่าง เป็นต้น
                ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อสมองหรือการพัฒนาไอคิว เช่น  การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและสมอง , ความเครียด ความกดดัน ขาดการออกกำลังกาย ขาดการพักผ่อน , ขาดการฝึกฝนการใช้ความคิด , การมองตนเองในด้านลบ , การใช้สารยาเสพติดต่างๆ  , การเลี้ยงดู การอบรม ภายในครอบครัว เป็นต้น
                นักบริหารที่มีไอคิวที่สูง มักได้เปรียบนักบริหารที่มีไอคิวที่ต่ำ เพราะนักบริหารที่มีไอคิวที่สูง มักคิดได้ไวกว่า , ตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆได้ดีกว่า , เรียนรู้งานหรือสิ่งต่างๆได้เร็วกว่า เป็นต้น
                EQ  ย่อมาจาก  Emotional Quotient  หมายถึง เชาว์อารมณ์ หรือความฉลาดทางอารมณ์ คือ การรู้จัก เรียนรู้ ความรู้สึก อารมณ์ของตนเองและผู้อื่น อีกทั้งสามารถบริหารจัดการกับอารมณ์ต่างๆได้  มีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นพบว่า บางคนมี IQ ที่สูง มีความฉลาดทางสติปัญญา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต ก็เนื่องมาจากการขาด EQ   เช่น นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกหลายๆคน มีความฉลาดทางปัญญาระดับอัจฉริยะ แต่ครอบครัวแตกแยก ภรรยาขอเลิก หรือ ทำงานร่วมกันคนอื่นๆไม่ได้ เป็นต้น
                ดังนั้นการเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จควรมีทักษะด้าน EQ ให้มาก เนื่องจากการทำงานภายในองค์กรมักจะต้องทำงานร่วมกันกับคน นักบริหารที่สามารถปรับอารมณ์ของตนเองและเรียนรู้อารมณ์ของผู้อื่นมักจะประสบความสำเร็จในการทำงานต่างๆได้เป็นอย่างดี
                AQ ย่อมาจาก Adversity Quotient  หมายถึง ความสามารถในการฝันฝ่าอุปสรรคปัญหาต่างๆ ทั้งต้องมีความอดทน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ร่างกาย จิตใจ เพื่อที่จะบรรลุถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้  ตัวอย่างเช่นนักไต่เขา 3 คน
                คนที่ 1 เมื่อเห็นภูเขาสูงๆ แล้ว ปฏิเสธไม่อยากที่จะปีนเพราะกลัวเหนื่อย ทั้งๆที่ตนเองก็สามารถปีนขึ้นได้  เราเรียกนักไต่เขาคนนี้ว่า “ Quitters”  หรือ ผู้ที่ไม่ยอมเดินทางหรือหยุดเดินทางเมื่อเจอปัญหาอุปสรรค  มีลักษณะของการหลบเลี่ยง
                คนที่ 2 เมื่อปีนเขาไปได้สักครึ่งทาง บ่นว่าเหนื่อยแล้วหยุดพัก ตั้งเต้นท์แล้วไม่ยอมปีนต่อ สำหรับลักษณะของคนที่ 2 เมื่ออยู่ภายในองค์กรมักไม่ชอบทำตนให้เด่นเกินหน้าใคร เราเรียกนักไต่เขาคนนี้ว่า “ Campers” หรือ ผู้หยุดพักพิงเมื่อได้ที่เหมาะ
                คนที่ 3 จะพยายามปีนให้ไปถึงจุดสูงสุดบนยอดเขา เป็นนักปีนเขาที่อุทิศตนไม่หยุดยั้ง ชอบความท้าทาย มีแรงจูงใจ มีวินัย เมื่อปีนถึงจุดสูงสุดบนยอดเขา มักจะพูดกับตัวเองและผู้คนรอบข้างว่า “ มีเขาลูกไหนที่สูงกว่านี้ให้ปีนอีกไหม” เราเรียกนักไต่เขาคนนี้ว่า “ Climbers” หรือ ผู้ที่รุกไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง
                เมื่อท่านเป็นนักบริหาร ท่านลองสำรวจตัวท่านเองหรือลูกน้องของท่าน ว่าตัวท่านเองหรือลูกน้องมีลักษณะเหมือนนักปีนเขาคนใด เพราะถ้าหากท่านเหมือนกับนักปีนเขาคนที่ 1 และคนที่ 2 ท่านมีโอกาสเป็นผู้แพ้มากกว่าผู้ที่ชนะ แต่ถ้าหากท่านหรือลูกน้องของท่านมีลักษณะเหมือนนักปีนเขาคนที่ 3 ท่านและลูกน้องคนนั้นๆ มีโอกาสในการเป็นผู้ชนะ มากกว่าผู้พ่ายแพ้
                MQ ย่อมาจากคำว่า “Moral Oral Quotient” หมายถึง ความฉลาดทางจริยธรรม ศีลธรรม หากว่าผู้ใดที่มี MQ สูง คนๆนั้นก็จะมีลักษณะที่รู้จักให้อภัย ลดความเห็นแก่ตัว มีความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งสังคมไทยเรามีปัญหามาก ในเรื่องของ MQ จึงเกิดการทุจริต คอรัปชั่น ในองค์กร หน่วยงานต่างๆ มากมายขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นวงการการเมือง วงการข้าราชการระดับสูง วงการธุรกิจต่างๆ เป็นต้น
                การจะปลูกฝังเรื่องของ MQ เป็นเรื่องยากเพราะต้องปลุกฝังตั้งแต่เด็ก โดยการสอน การอบรม อีกทั้งผู้ใหญ่ควรประพฤติปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดีด้วย
                MQ สำหรับนักบริหาร ถ้าหากว่านักบริหารท่านใดมี MQ สูง มักจะได้รับการยกย่อง ความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจ มากกว่านักบริหารที่มี  MQ ต่ำ
                SQ ย่อมาจากคำว่า Social Quotient  หมายถึง ความฉลาดทางสังคม  เป็นความสามารถในการปรับตัวในการเข้าสังคมได้ดี  เป็นบุคคลที่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี  มีทักษะในการพูดจา ยิ้มแย้มแจ่มใส มีบุคลิกภาพที่ดี
ดังนั้นการเป็นนักบริหารที่ประสบความสำเร็จควรมีทักษะด้าน SQ  เนื่องจากการทำงานบริหารเรามีความจำเป็นจะต้องมีการบริหารคน ใช้คนทำงานแทนเรา อีกทั้งต้องมีการพบปะผู้คนที่มากมายเพื่อการสร้างโอกาสในด้านธุรกิจอีกด้วย ดังคำกล่าวของสุภาษิตจีนที่กล่าวไว้ว่า “ นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน ขึ้นสู่ที่สูงได้ยาก ”
โดยสรุป IQ EQ AQ MQ และ SQ  กระผมเชื่อว่าพวกเราทุกๆคนมี แต่มีความแตกต่างกันหรือมีไม่เท่ากัน ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวของกระผม นักบริหารที่ประสบความสำเร็จ ควรจะต้องมี IQ EQ AQ MQ และ SQ  ที่มีสัดส่วนที่มีความสมดุลกัน ไม่มีตัวไหนที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป  การเดินทางสายกลางจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมดังคำสอนของพระพุทธเจ้าในทางพุทธศาสนา คือ ไม่ตึงจนเกินไป หรือ ไม่หย่อนจนเกินไป