วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การสื่อสารอย่างไรในภาวะวิกฤต

สื่อสารอย่างไรในภาวะวิกฤต
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
            วิกฤติ คือ คำวิเศษณ์ - อยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตราย เช่น การเมืองอยู่ในขั้นวิกฤติ, มักใช้แก่เวลาหรือเหตุการณ์ เป็น วิกฤติกาล หรือ วิกฤติการณ์, อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่น มุมวิกฤติ จุดวิกฤติ. (ส.; ป. วิกต, วิกติ).อ้างอิงจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับคำว่า “วิกฤต” มี ดังนี้
๑ วิกฤติ คือ คำที่ให้ความหมายในเชิงลบ ส่วนใหญ่มักใช้กับคนหรือภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำท่วมกรุงเทพในครั้งนี้เข้าขั้นวิกฤต , สุขภาพจิตในภาวะวิกฤต เป็นต้น
๒ ภาวะวิกฤต มักจะมีผลกระทบกับคนจำนวนมาก เช่น ภัยจากแผ่นดินไหว , พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น
๓ ในภาวะวิกฤต มักต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็ว ถูกต้อง ชัดเจนและต้องการภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นนี้ มักต้องอาศัยการสื่อสารเป็นสำคัญ และต้องเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพด้วย เพราะถ้าข้อมูลดี มีความถูกต้อง แต่ถ้าคนสื่อสารสื่อไม่ดี สื่อผิดพลาด ก็จะทำให้ผู้รับข่าวสารเกิดความคลาดเคลื่อน อีกทั้งทำให้การตัดสินใจหรือการใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาเกิดความผิดพลาดด้วย
ฉะนั้นการสื่อสารจึงเป็นหัวใจที่มีความสำคัญมากๆในการฝ่าภาวะวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าเรื่องของ ภัยธรรมชาติ ภัยทางด้านการก่อการร้าย ภัยทางด้านโรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ
สำหรับเมื่อเกิดภาวะวิกฤตที่ร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ภัยธรรมชาติ โรคติดต่อร้ายแรง การก่อการร้าย ฯลฯ รัฐบาลคงหนีความรับผิดชอบไปไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในแต่ละประเทศในการที่จะต้องแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ
ด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤต รัฐบาลแต่ละประเทศมักใช้การสื่อสารแบบรวดเร็ว กล่าวคือ เป็นการสื่อสารแบบบนลงล่าง เช่น คำสั่ง , แถลงการณ์  ฯลฯ ซึ่งถ้ารัฐบาลตัดสินใจถูกก็สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว แต่ในทางกลับกันหากตัดสินใจผิดพลาด ก็อาจจะเกิดผลกระทบและปัญหาก็มักจะบานปลายได้ ดังนั้นการสื่อสารที่ดี การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องการการสื่อสารแบบ 2 ทาง กล่าวคือ จากบนลงล่าง(รัฐบาลสู่ประชาชน) และ จากล่างขึ้นบน(จากประชาชนสู่รัฐบาล) ซึ่งหากรัฐบาลประเทศไหนเปิดโอกาสให้สื่อสาร 2 ทางได้ ปัญหาก็จะแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดมากกว่า แต่ข้อเสียก็คือ เกิดความล่าช้าในการปฏิบัตินั้นเอง
อีกประเด็นที่สำคัญคือ ในภาวะวิกฤติ รัฐบาลมักใช้การสื่อสารแบบดั่งเดิมกล่าวคือ ให้ประชาชนรู้ข้อมูลให้น้อยๆ เพราะถ้ารู้ข้อมูลมาก ประชาชนก็จะเกิดความกลัว เกิดความวุ่นวาย อีกทั้งกระทบต่อคะแนนเสียงในทางการเมืองอีกด้วย กล่าวคือ ฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองและประชาชนจะต่อว่ารัฐบาลว่า ปัญหาแค่นี้แก้ไขไม่ได้หรือ ดังจะเห็นจากรัฐบาลหลายๆประเทศ มักปิดข่าวหรือไม่ให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับประชาชน อีกทั้งยังแสดงความมั่นใจเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหา ทั้งๆที่ รัฐบาลรู้ดีว่า แก้ไขปัญหาไม่ได้ ตัวอย่าง น้ำท่วมในหลายประเทศ รัฐบาลมักให้ข่าวว่า รับมือได้ แต่ก็ไม่สามารถรับมือกับน้ำท่วมได้ดังที่พูดไว้
ส่วนสื่อมีความเปิดกว้างและควบคุมได้ยากกว่าในอดีต ซึ่งปัจจุบันเรามีระบบอินเตอร์เน็ต มีการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook , Twitter , Youtube , Google ฯลฯ อีกทั้งยังมี วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม ต่างๆ มากมาย ซึ่งทำให้รัฐบาลควบคุมได้ยากมากกว่าในอดีต อีกทั้ง สื่อต่างๆทำให้ข้อมูลแพร่เผยไปอย่างรวดเร็ว แต่อาจมีข้อเสียเช่นกัน กล่าวคือ  ข้อมูลที่ส่งไปอาจเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด ข้อมูลที่เป็นเท็จก็ได้  
อีกทั้งเทคโนโลยี มีความทันสมัยมากๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์  สินค้าตระกูล โดยเฉพาะโทรศัพท์ในยุคปัจจุบัน สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ส่งข่าว เล่นเกมส์ ชำระเงิน โอนเงิน ดูทีวี ฯลฯ กล่าวคือ หากเรามีโทรศัพท์ที่มีเทคโนโลยีที่สูง เราสามารถส่งข่าว หรือทำสิ่งต่างๆที่รวดเร็วได้เมื่อเกิดภาวะวิกฤต
ท้ายนี้ ในการแก้ไขปัญหาหรือการสื่อสารอย่างไรในภาวะวิกฤต เราคงต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย อีกทั้ง ต้องมีการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อการให้เกิดการสื่อสารที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สามัคคีสร้างชาติ

สามัคคีสร้างชาติ
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
                หลายวันก่อนกระผมได้มีโอกาสรับเชิญให้ไปสัมภาษณ์ออกรายการวิทยุโดยมีการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นรายการของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานครฯ ในประเด็นของ “ ความสามัคคีสร้างชาติ” เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น กระผมจึงขอเขียนเป็นบทความชิ้นนี้ขึ้นมา
                พวกเราคงต้องยอมรับกันว่า สังคมไทยในปัจจุบันนี้ เกิดการแตกแยกกันทางความคิดกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องของการเมือง ดังจะเห็นได้ว่าสังคมไทยได้เกิดเสื้อสีต่างๆขึ้น เช่น คนเสื้อสีแดง คนเสื้อสีเหลือง คนเสื้อสีน้ำเงิน คนเสื้อสีดำ คนเสื้อสีเขียว เป็นต้น อีกทั้งความแตกแยกจากความไม่สงบที่เกิดจากปัญหาภายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
                จากการแตกความสามัคคีดังกล่าว ทำให้เกิดผลเสียและเกิดผลกระทบขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ความรุนแรง ตลอดจนถึงความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ในทางกลับกัน ประเทศเพื่อนบ้านของเรากลับมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ประเทศเวียดนาม ประเทศเขมร ประเทศมาเลเซีย รวมถึงประเทศพม่าซึ่งกำลังจะมีการเปิดประเทศมากยิ่งขึ้น
                ตามความคิดเห็นของกระผมเราสามารถหาทางรอดให้กับสังคมไทยได้โดยการ
1.มอบความรัก เราต้องเริ่มต้นจากการรักภายในตนเองก่อน พึ่งพาตนเองให้มากขึ้น ช่วยเหลือตนเอง รักษาสุขภาพของตนเอง เมื่อมีความรักในตนเองแล้ว เราก็ควรมอบความรักให้แก่ผู้อื่นเช่น ความรักแก่สามี ภรรยา ลูก พี่น้อง พ่อแม่ ตลอดถึงให้ความรักแก่เครือญาติ แล้วจึงขยายไปยังเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน ตลอดจนคนในสังคม รวมถึงความรักในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.ความสามัคคี ความจริงแล้วสังคมไทยมีคุณลักษณะ เอื้ออาทรกัน ให้ความช่วยเหลือกัน ดังจะเห็นจากตัวอย่างหลายตัวอย่าง เช่น น้ำท่วมที่กรุงเทพฯ คนไทยจากต่างจังหวัดก็ได้บริจาคเงิน  สิ่งของ เพื่อให้การช่วยเหลือ หรือ เกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง หลายจังหวัดในประเทศไทยก็จะส่งกำลังใจ ส่งสิ่งของ เพื่อให้การช่วยเหลือ ทั้งนี้รวมถึงคนไทยได้ให้ความช่วยเหลือกับประเทศต่างๆทั่วโลกด้วย เช่น ซินามิ  ที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
3.การให้อภัย การให้อภัยเป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ในทางปฏิบัติค่อนข้างยาก ในทางศาสนาได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการให้อภัยเป็นอันมาก เช่น พุทธศาสนาเคยมีคำสอนต่างๆ “ อภัยทานเป็นธรรมทานอย่างหนึ่ง” , “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” หรือ ศาสนาคริสต์เคยมีคำสอนในไบเบิลว่า “ ถ้าผู้ใดตบแก้มข้างขวาของท่าน ก็จงหันแก้มข้างซ้ายให้เขาตบด้วย”  การให้อภัยจึงเป็นสิ่งที่สมควรกระทำ ดังเหตุการณ์ความไม่สงบในอดีต นักศึกษา ประชาชนได้หนีเข้าไปในป่าเพื่อเป็นคอมมิวนิสต์ และมีการฆ่าฟันกันอย่างรุนแรง รัฐบาลตอนนั้นจึงใช้หลักการให้อภัย โดยการประกาศนโยบาย 66/23 คือการให้อภัยคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ให้กลับเข้ามาร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทยโดยไม่ต้องรับผิดใดๆเลย จึงทำให้เกิดความสงบ
4.การกระจายผลประโยชน์ต้องเป็นธรรม ไม่ใช่เมื่อตนเองหรือฝ่ายของตนเอง มีอำนาจในการบริหารแล้ว ก็จัดสรรงบประมาณให้แก่ หัวคะแนน หรือคนในพื้นที่ของตนเองก่อน จนทำให้อีกหลายๆพื้นที่ต้องเดือดร้อน หรือ ให้ผลประโยชน์ของฝ่ายตนเองมากจนเกินไปและฝ่ายตรงกันข้ามไม่ให้หรือให้น้อยเกินไปก็จะเกิดปัญหาได้
5.ถอยบ้างและยอมแพ้บ้าง การอยู่ร่วมกันตั้งแต่ 2 ขึ้นคนไปย่อมมีการกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดา เช่น สามีภรรยา หากว่าฝ่ายหนึ่งชวนทะเลาะอีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ยอมถอยแล้วจึงใช้อารมณ์ในการทะเลาะกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็มักจะเกิดการแตกหักได้ง่าย แต่ถ้าหากว่ามีฝายหนึ่งคือ สามี ภรรยา ยอมแพ้ ยอมถอยบ้าง สามีภรรยาคู่นั้น ก็จะอยู่ด้วยกันได้อย่างยาวนาน ฝ่ายต่างๆหรือกลุ่มต่างๆในสังคมไทยก็เช่นกัน ควรที่จะนิ่งบ้าง ถอยบ้าง ยอมแพ้บ้าง
                สำหรับการแก้ไขปัญหา ชายแดนภาคใต้ กระผมชอบแนวความคิดของท่านหลวงพ่อพุทธทาส ซึ่งท่านได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2539 จากยูเนสโก ท่านได้อาศัยหลักในการพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และทำอย่างสม่ำเสมอ โดยท่านมีหลักอยู่ 3 ข้อ คือ
1.ขอให้สาธุชนแต่ละศาสนา ทำความเข้าใจหรือให้เข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนเอง โดยท่านไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธเลย
2.ให้ทำความเข้าใจระหว่างศาสนา โดยการมีการพูดคุยกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมไปถึงองค์ความรู้ต่างๆ กันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะเชิญผู้นำศาสนาต่างๆ ไปที่สวนโมกข์ หรือ ท่านจะเดินทางไปยังประเทศต่างๆที่นับถือศาสนาอื่นๆ โดยท่านจะทำการพูดคุยเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อย่างสม่ำเสมอ
3.นำโลกออกจากวัตถุนิยม โดยท่านเห็นว่า วัตถุนิยมจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ เช่น การโกง การคอรัปชั่น การขายบริการทางเพศและปัญหาอื่นๆ
                ดังนั้นความ สามัคคีของคนในชาติเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนสิ่งอื่นๆ เพราะถ้าหากเราเลือกที่จะพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาอื่นก่อน เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่อองเที่ยว วัฒนธรรม ประเพณี โรงแรมต่างๆ แต่ถ้าคนในประเทศขาดความสามัคคี เกิดการฆ่ากัน ประท้วงใช้ความรุนแรงต่างๆ ถามว่า คนต่างชาติอยากที่จะเข้ามาใช้จ่าย ท่องเที่ยวในประเทศหรือไม่
                แต่ถ้าความสามัคคีเกิดขึ้นในชาติ ชาติไทยเราเกิดความสงบ เรียบร้อย คนชนชาติต่างๆก็อยากจะเข้ามาเที่ยว เข้ามาใช้จ่าย ภายในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้น เงินทอง ชื่อเสียงก็จะหลั่งไหล เข้ามาเอง
                สุดท้ายนี้ ขออัญเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานพิธีพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2522 ดังนี้
                “ ...ในจิตใจของคนไทยทุกคนมีเชื้อของความดี  ที่ได้นำพวกเราทั้งหลายมาอยู่ในฐานะที่มั่นคง ที่ก้าวหน้า ที่เจริญ จนทุกวันนี้  ถ้าเราไม่มีความดีอยู่ในตัว ก็เข้าใจว่าประเทศไทยคงไม่ได้มีอายุยืนนานเช่นนี้”