วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ปลาเล็กกินปลาใหญ่


ปลาเล็กกินปลาใหญ่

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก


                “พวกที่ตัวใหญ่ๆ มักไม่กินตัวเล็กๆ เสมอไป แต่พวกที่รวดเร็วกว่าสิ กินพวกที่ช้ากว่าเสมอ” เป็นคำกล่าวของประธานบริษัท BMW แห่งยุโรปเมื่อปี 1989

                โลกแห่งการแข่งขันในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะเรื่องของการตลาดมีความสำคัญเป็นอันมาก  ซึ่งโลกยุคนี้อะไรก็ไม่แน่นอน บริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทมักไม่สามารถเอาชนะการแข่งขันกับบริษัทเล็กๆบางแห่งได้ แต่สิ่งที่บริษัทเล็กๆ สามารถเอาชนะบริษัทใหญ่ๆได้ มีประเด็นที่สำคัญก็คือบริษัทเล็กๆต้องพัฒนาเรื่องของความคิด พัฒนาไอเดีย พัฒนาการคิดต่าง คิดอย่างผู้ท้าชิง หาโอกาสให้ตัวเองและจงรักในสิ่งที่ทำ จงทำในสิ่งที่รัก

                ในอดีต บริษัทไมโครซอฟท์ของบิล เกตส์ และ บริษัท แอปเปิลของสตีฟ จอบส์ นับว่าเป็นบริษัทเล็กๆ เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง IBM แต่เนื่องจาก ทั้งคนได้ใช้ ไอเดีย คิดค้นสินค้าใหม่ๆ จึงทำให้บริษัทของเขาทั้งสองคน เจริญเติบโตจากบริษัทเล็กๆ จนกลายเป็นบริษัทใหญ่ๆระดับโลกได้ในที่สุด

                เราจะสังเกตได้ว่า ทั้งสองคนมีแนวความคิด มีไอเดีย ใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา ดังปรากฏในข่าวตามสื่อต่างๆ หรือจากคำพูดของเขาทั้งสองคน

                บิล เกตส์ เคยกล่าวว่า  “ ทุกวันนี้ผมทำงานเพราะผมสนุกกับมัน ชีวิตจะสดใสขึ้น ถ้าคุณมองการท้าทายให้เป็นหนทางแห่งการสร้างสรรค์” หรือ “ ไมโครซอฟท์จะรับและต่อยอดเทคโนโลยีออกไปซึ่งจะทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ใหม่ขึ้นมา” หรือ “เราต้องการทำให้แน่ใจว่า เราเป็นผู้นำสินค้าใหม่ไปทดแทนสินค้าของเราเองแทนที่จะให้ผู้อื่นเป็นผู้กระทำ”  หรือ “ อะไรทำให้ไมโครซอฟท์ทะยานขึ้นเป็นผู้นำ บิลเกตส์บอกว่า มันคือความคิดนั่นเอง”

                สตีฟ จอบส์ เคยกล่าวว่า “ ช่วงชีวิตของคนเรานั้นมีจำกัด จงอย่าเสียเวลาให้กับการใช้ชีวิตตามคนอื่น” หรือ “ การเป็นคนรวยที่สุดในสุสานไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการ แต่การที่ผมได้นอนหลับบนเตียงและพูดว่า วันนี้เราได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ทิ้งไว้ให้กับโลก คือสิ่งที่ผมต้องการมากที่สุด” หรือ “ ในบางครั้งที่คุณเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ แล้วพบกับความผิดพลาด มันจะเป็นการดีมากที่คุณจะรีบหันมายอมรับข้อผิดพลาดนั้นเสียแล้วเดินหน้าปรับปรุงสิ่งใหม่อื่นๆต่อไป”

ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่า จากคำพูดของบิล เกตส์ และสตีฟ จอบส์ เขาทั้ง 2 คน ได้พัฒนาความคิด พัฒนาไอเดียใหม่ๆออกมาเสมอๆ ดังนั้น หากว่าบริษัทของท่านเป็นบริษัทเล็กๆ ท่านสามารถเอาชนะบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ด้วยการใช้ความคิดใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ มาแข่งขัน

แล้วถามว่ามันยากไหมที่จะสามารถเอาชนะบริษัทใหญ่ๆได้หากว่าเราเป็นบริษัทเล็กๆ คำตอบมีอยู่ว่า ยุคปัจจุบันลูกค้า ผู้บริโภค ไม่เหมือนเดิมแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับอดีต และในอนาคต ลูกค้า ผู้บริโภค ก็จะยิ่งมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป   หากว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่สามารถปรับตัวต่อการแข่งขัน ก็มีโอกาสตายได้เช่นกัน ดังเช่น ฟิลม์ถ่ายรูปในอดีตมีหลายบริษัทที่เคยยิ่งใหญ่แต่ก็ล้มหายตายจากไปก็เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้พฤติกรรมลูกค้า ผู้บริโภค เปลี่ยนแปลงตาม จากการใช้ฟิลม์ปกติก็เปลี่ยนแปลงเป็นมาใช้กล้อง Digital บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Kadak คือตัวอย่างที่ดีในอดีตเป็นผู้นำวงการถ่ายรูป  แต่ Kadak มีการปรับตัวน้อยมากจึงไม่สามารถรักษาความเป็นผู้นำได้

                แล้วถามว่า บริษัทเล็กๆ จะพัฒนาความคิด ไอเดีย จากอะไร นาย Dee Hock กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การป้อนความคิดแปลกๆใหม่ๆ ใส่เข้าไปในหัวสมองของเรา หากแต่อยู่ที่การขจัดความคิดเก่าๆ ออกไปต่างหาก หัวสมองของเราก็เหมือนกับห้องที่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ ล้าสมัย เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะเอาเฟอร์นิเจอร์ใหม่ใส่เข้าไป เราก็ต้องย้ายเฟอร์นิเจอร์เก่าออกไปจากห้องนี้ให้หมด” กล่าวคือ นาย Dee Hock ได้แนะนำให้ลืมอดีตไปบ้าง ไม่ควรนำอดีตมาใส่ในสมอง เพราะหากนำมาใส่มากๆ ก็จะทำให้เราคิดสิ่งใหม่ๆ สิ่งแปลกๆ สิ่งที่สร้างสรรค์ไม่ออก

ดังคำพูดของสตีฟ จอบส์ ที่เคยตอบนักข่าวว่า เขาเชื่อเรื่อง งานวิจัยตลาดมากน้อยขนาดไหน เขาตอบว่า บริษัทมีทีมงานวิจัยของบริษัทเอง เขาให้ความสำคัญกับงานวิจัยตลาดน้อยมาก แต่จะให้ความสำคัญกับการออกนวัตกรรมใหม่ๆ อีกทั้งเขายังยกตัวอย่างต่ออีกว่า ในอดีตคนเราเดินทางโดยใช้ รถม้า ใช้ม้า หากว่ามีการวิจัยการตลาด ว่าคนต้องการอะไร ผู้คนในอดีตก็ต้องตอบว่า ต้องการม้าที่แข็งแรงวิ่งได้เร็ว แต่เจ้าของหรือผู้ผลิตรถยนต์คันแรกของโลก ยี่ห้อ ฟอร์ด หรือนายฟอร์ด ไม่ได้มีการวิจัยตลาดในขณะนั้น รถยนต์คันแรกจึงได้เกิดขึ้น

Think ต่างคืออีกเทคนิคหนึ่งซึ่งจะนำมาซึ่งความคิดและไอเดียแปลกๆ ก็คือ คุณต้องมีความคิดต่าง ในอดีตร้านขายข้าวต้มมีผัดผักบุ้งไฟแดง แต่ด้วยความคิดต่างจึงเกิดมี “ ผักบุ้งลอยฟ้า” หรือ ร้านขายไอศกรีมหากขายตามปกติ ธรรมดาก็ขายกันเหมือนร้านทั่วๆไป แต่ปัจจุบันมี “ไอศกรีมลอยฟ้าหน้าพระปฐมเจดีย์”  ฉะนั้น การคิดต่าง  จึงก่อให้เกิดชื่อเสียง เกิดความแปลกใหม่ เกิดความสนใจ เกิดความอยากที่จะซื้อสินค้าหรือบริการนั้นๆ

คิดอย่างผู้ท้าชิง หากต้องการจะเอาชนะยักษ์ใหญ่หรือต้องการเป็นผู้นำตลาดอยู่เสมอ เราก็ควรมีความคิดอย่างผู้ท้าชิงอยู่ตลอดเวลา เพราะหากว่าวันใดเราคิดว่า เราเหนือกว่าคนอื่นแล้ว เราก็ไม่อยากที่จะคิด อยากที่จะพัฒนาตนเอง ไม่อยากที่จะพัฒนาความคิด พัฒนาไอเดีย ต่อไป จงคิดอย่างผู้ท้าชิงอยู่เสมอ แล้ว ท่านจะได้ไม่หยุดความคิดในการพัฒนาสินค้าและบริการของท่านเอง

หาโอกาสให้ตัวเอง บริษัทของตัวเอง สินค้าและบริการของตัวเองอยู่ตลอดเวลา โอกาสมีอยู่ทุกๆที่ ทุกหนแห่ง เพียงแต่เราจะสามารถจับมัน หยิบมันมาใช้ได้หรือไม่ บางคนมีโอกาส เข้ามาในชีวิตแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรกับโอกาสที่ผ่านเข้ามาได้  จงเตรียมพร้อมความคิด ไอเดีย ต่างๆของคุณ เมื่อโอกาสมาถึงความคิด ไอเดียดีๆ จะทำให้คุณประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่และนำพาคุณไปสู่ความร่ำรวยได้  สำหรับวิธีในการหาโอกาส เราสามารถหาโอกาสได้จากหลายวิธี เช่น การสมัครเป็นสมาชิกสื่อต่างๆในวงการที่เราทำงาน,การไปร่วมงานแสดงงานโชว์สินค้าต่างๆ,การนำเอาของเก่ามาประยุกต์และพัฒนาขึ้นมาใหม่ เป็นต้น

จงรักในสิ่งที่ทำ จงทำในสิ่งที่รัก บุคคลที่ประสบความสำเร็จ สร้างความร่ำรวยหรือโด่งดัง เขามักจะทำงานในสิ่งที่เขารัก เขาจึงกลายเป็นคนร่ำรวยและมีชื่อเสียงในที่สุด หากบริษัทของท่านยังเล็กอยู่ ท่านสามารถสนุกกับมัน ท่านสามารถพัฒนาบริษัทจนเติบโตได้ หากว่าท่านได้ทำงานในสิ่งที่ตนเองรัก จงรักในสิ่งที่ที่ท่านทำและจงทำในสิ่งที่รัก แล้วท่านจะประสบความสำเร็จ

ดังนั้น ปลาเลิกสามารถกินปลาใหญ่ได้  บริษัทเล็กๆ สามารถเอาชนะบริษัทใหญ่ๆได้ ก็โดยการพัฒนาเรื่องของความคิด พัฒนาไอเดีย พัฒนาการคิดต่าง คิดอย่างผู้ท้าชิง หาโอกาสให้ตัวเองและจงรักในสิ่งที่ทำ จงทำในสิ่งที่รัก