วันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การสื่อสารอย่างไรในภาวะวิกฤต

สื่อสารอย่างไรในภาวะวิกฤต
โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก
            วิกฤติ คือ คำวิเศษณ์ - อยู่ในขั้นล่อแหลมต่ออันตราย เช่น การเมืองอยู่ในขั้นวิกฤติ, มักใช้แก่เวลาหรือเหตุการณ์ เป็น วิกฤติกาล หรือ วิกฤติการณ์, อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ เช่น มุมวิกฤติ จุดวิกฤติ. (ส.; ป. วิกต, วิกติ).อ้างอิงจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒
ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับคำว่า “วิกฤต” มี ดังนี้
๑ วิกฤติ คือ คำที่ให้ความหมายในเชิงลบ ส่วนใหญ่มักใช้กับคนหรือภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น น้ำท่วมกรุงเทพในครั้งนี้เข้าขั้นวิกฤต , สุขภาพจิตในภาวะวิกฤต เป็นต้น
๒ ภาวะวิกฤต มักจะมีผลกระทบกับคนจำนวนมาก เช่น ภัยจากแผ่นดินไหว , พายุไต้ฝุ่น เป็นต้น
๓ ในภาวะวิกฤต มักต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็ว ถูกต้อง ชัดเจนและต้องการภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สถานการณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นนี้ มักต้องอาศัยการสื่อสารเป็นสำคัญ และต้องเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพด้วย เพราะถ้าข้อมูลดี มีความถูกต้อง แต่ถ้าคนสื่อสารสื่อไม่ดี สื่อผิดพลาด ก็จะทำให้ผู้รับข่าวสารเกิดความคลาดเคลื่อน อีกทั้งทำให้การตัดสินใจหรือการใช้ภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาเกิดความผิดพลาดด้วย
ฉะนั้นการสื่อสารจึงเป็นหัวใจที่มีความสำคัญมากๆในการฝ่าภาวะวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าเรื่องของ ภัยธรรมชาติ ภัยทางด้านการก่อการร้าย ภัยทางด้านโรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ
สำหรับเมื่อเกิดภาวะวิกฤตที่ร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ภัยธรรมชาติ โรคติดต่อร้ายแรง การก่อการร้าย ฯลฯ รัฐบาลคงหนีความรับผิดชอบไปไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในแต่ละประเทศในการที่จะต้องแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ
ด้านการสื่อสารในภาวะวิกฤต รัฐบาลแต่ละประเทศมักใช้การสื่อสารแบบรวดเร็ว กล่าวคือ เป็นการสื่อสารแบบบนลงล่าง เช่น คำสั่ง , แถลงการณ์  ฯลฯ ซึ่งถ้ารัฐบาลตัดสินใจถูกก็สามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว แต่ในทางกลับกันหากตัดสินใจผิดพลาด ก็อาจจะเกิดผลกระทบและปัญหาก็มักจะบานปลายได้ ดังนั้นการสื่อสารที่ดี การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องการการสื่อสารแบบ 2 ทาง กล่าวคือ จากบนลงล่าง(รัฐบาลสู่ประชาชน) และ จากล่างขึ้นบน(จากประชาชนสู่รัฐบาล) ซึ่งหากรัฐบาลประเทศไหนเปิดโอกาสให้สื่อสาร 2 ทางได้ ปัญหาก็จะแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดมากกว่า แต่ข้อเสียก็คือ เกิดความล่าช้าในการปฏิบัตินั้นเอง
อีกประเด็นที่สำคัญคือ ในภาวะวิกฤติ รัฐบาลมักใช้การสื่อสารแบบดั่งเดิมกล่าวคือ ให้ประชาชนรู้ข้อมูลให้น้อยๆ เพราะถ้ารู้ข้อมูลมาก ประชาชนก็จะเกิดความกลัว เกิดความวุ่นวาย อีกทั้งกระทบต่อคะแนนเสียงในทางการเมืองอีกด้วย กล่าวคือ ฝ่ายตรงกันข้ามทางการเมืองและประชาชนจะต่อว่ารัฐบาลว่า ปัญหาแค่นี้แก้ไขไม่ได้หรือ ดังจะเห็นจากรัฐบาลหลายๆประเทศ มักปิดข่าวหรือไม่ให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับประชาชน อีกทั้งยังแสดงความมั่นใจเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหา ทั้งๆที่ รัฐบาลรู้ดีว่า แก้ไขปัญหาไม่ได้ ตัวอย่าง น้ำท่วมในหลายประเทศ รัฐบาลมักให้ข่าวว่า รับมือได้ แต่ก็ไม่สามารถรับมือกับน้ำท่วมได้ดังที่พูดไว้
ส่วนสื่อมีความเปิดกว้างและควบคุมได้ยากกว่าในอดีต ซึ่งปัจจุบันเรามีระบบอินเตอร์เน็ต มีการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook , Twitter , Youtube , Google ฯลฯ อีกทั้งยังมี วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม ต่างๆ มากมาย ซึ่งทำให้รัฐบาลควบคุมได้ยากมากกว่าในอดีต อีกทั้ง สื่อต่างๆทำให้ข้อมูลแพร่เผยไปอย่างรวดเร็ว แต่อาจมีข้อเสียเช่นกัน กล่าวคือ  ข้อมูลที่ส่งไปอาจเป็นข้อมูลที่ผิดพลาด ข้อมูลที่เป็นเท็จก็ได้  
อีกทั้งเทคโนโลยี มีความทันสมัยมากๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์  สินค้าตระกูล โดยเฉพาะโทรศัพท์ในยุคปัจจุบัน สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ส่งข่าว เล่นเกมส์ ชำระเงิน โอนเงิน ดูทีวี ฯลฯ กล่าวคือ หากเรามีโทรศัพท์ที่มีเทคโนโลยีที่สูง เราสามารถส่งข่าว หรือทำสิ่งต่างๆที่รวดเร็วได้เมื่อเกิดภาวะวิกฤต
ท้ายนี้ ในการแก้ไขปัญหาหรือการสื่อสารอย่างไรในภาวะวิกฤต เราคงต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย อีกทั้ง ต้องมีการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อการให้เกิดการสื่อสารที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น